เมื่อวันที่ 25 ตุลาคม 2566 นายรัชพล ปาละกูล ผู้รักษาราชการแทนผู้อำนวยการสำนักงานป้องกันและปราบปรามยาเสพติดภาค 9 เข้าพบ นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการรักษาราชการแทน เลขาศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) เพื่อหารือการบังคับใช้อำนาจตามประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีข้อเสนอจากสำนักงาน ป.ป.ส. ให้มีการกำหนดสถานะของพื้นที่หรือกลุ่มของพื้นที่ในแต่ละปี หรือพื้นที่ที่มีความจำเป็นเร่งด่วน และกำหนดผู้รับผิดชอบในพื้นที่ดังกล่าวเพื่อป้องกันและปราบรามยาเสพติด พร้อมกับกำหนดให้มีกลไก โครงสร้างและเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงาน รวมทั้ง จัดสรรทรัพยากรที่เหมาะสมกับสถานะของปัญหาและให้หน่วยงานของรัฐให้การสนับสนุนตามที่ร้องขอ
ทั้งนี้ เป็นผลสืบเนื่องจากข้อเรียกร้องของผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ท้องที่และประชาชนทุกภาคส่วน ที่เห็นว่าปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาสำคัญเร่งด่วนที่กระทบต่อวิถีชีวิตโดยปกติของประชาชนทุกพื้นที่ ดังจะเห็นได้จากการแพร่ระบาดของยาเสพติด จำนวนยอดผู้ติดยาเสพติดที่พุ่งสูงขึ้น โดยมีผู้ใช้กระท่อมในพื้นที่กว่า 50 เปอร์เซ็นต์ รองลงมาเป็นยาบ้า และอื่น ๆ
สำหรับข้อเสนอจากการหารือในครั้งนี้ ศอ.บต. เห็นด้วยกับการใช้อำนาจตามมาตรา 5 (10) แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด 2564 เพื่อกำหนดให้จังหวัดชายแดนภาคใต้บางส่วน ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี จังหวัดยะลา และ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลา (อำเภอนาทวี อำเภอสะบ้าย้อย อำเภอจะนะ อำเภอเทพา) เป็น “พื้นที่พิเศษว่าด้วยการป้องกัน การปราบปราม การบำบัดฟื้นฟูและบริหารจัดการโดยประชาชนมีส่วนร่วมตามหลักการทางศาสนาและความหลากหลายทางวัฒนธรรม” สืบเนื่องจากสภาพปัญหาการแพร่ระบาดของยาเสพติดที่สร้างความเดือดร้อนต่อประชาชนทุกภาคส่วนเป็นอย่างมาก และผลกระทบดังกล่าว ทำให้เกิดข้อเสนอที่มุ่งเน้นการทำงานร่วมกันระหว่างรัฐและประชาชน