นายสมศักดิ์ เทพสุทิน รองนายกรัฐมนตรี มีคำสั่งมอบหมายให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคี ปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป) ประสานงานร่วมกับศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) และหน่วยงานเกี่ยวข้อง ร่วมดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนและความเหลื่อมล้ำในพื้นที่ จชต. ให้เกิดผลเป็นรูปธรรม ในระยะเร่งด่วน (quick win) ภายใน 100 วัน สามารถวัดผลสำเร็จได้อย่างเป็นรูปธรรม พร้อมสั่งการแก้จนในระยะยาวให้สำเร็จภายใน 4 ปี
โดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประชุมหารือการจัดทำแผนงานแก้จนในระยะเร่วด่วน โดยจะมีการกำหนดกลุ่มเป้าหมายฐานข้อมูลคนจน ซึ่งจะใช้ฐานข้อมูลจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บ.พ.ท) เนื่องจากจะทำให้สามารถสรุปผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาความยากจนในระยะ 3 เดือน 6 เดือนและ 1 ปีได้อย่างชัดเจน ว่า สามารถลดจำนวนคนยากจนได้มากเพียงใด
นายชนธัญ แสงพุ่ม รองเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวถึงเครื่องมือในการแก้ไขปัญหาความยากจน 4 มิติในพื้นที่ จชต. ที่ ศอ.บต. ได้ดำเนินการต่อเนื่อง คือ งานปศุสัตว์ เน้นการทำเกษตรแบบพันธะสัญญา, งานอุตสาหกรรมครัวเรือนที่ผลิตได้ในพื้นที่, การขับเคลื่อนนิคมอุตสาหกรรมเมืองต้นแบบสามเหลี่ยม มั่นคง มั่งคั่ง ยั่งยืน อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นเมืองต้นแบบอุตสาหกรรมแปรรูปการเกษตร, และขับเคลื่อนพืชเกษตร
นอกจากนี้ที่ประชุม มีมติแนวทางในการแก้ไขความยากจน ประกอบด้วย การสอบทานข้อมูลคนยากจนใน จชต. โดยยึดฐานข้อมูลคนยากจนของ บ.พ.ท. ที่มีจำนวน 107,356 คน โดยใช้กลไกบัณฑิตอาสาพัฒนามาตุภูมิของ ศอ.บต. ลงพื้นที่สอบทานและจัดเก็บข้อมูลตัวเลขของคนยากจนในพื้นที่ให้ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน, กำหนดเป้าหมายพื้นที่นำร่องในการแก้ไขปัญหาคนยากจนให้เป็นรูปธรรมในระยะเวลา 4 ปี กำหนดปีที่ 1-3 ภายใน พ.ศ 2567-2569 สามารถแก้ไขปัญหายากจนได้ปีละ 30,000 ราย ทั้งนี้ที่ประชุมยังกำหนดแนวทางเพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปตามเป้าหมาย อาทิ การร่วมกันวิเคราะห์ปัญหาความยากจนของแต่ละครัวเรือน เพื่อนำไปสู่การแก้ไขปัญหาได้อย่างตรงจุด พร้อมกับสร้างอาชีพให้ครังเรือนเป้าหมายมีรายได้ที่มั่นคงอย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ สำหรับแนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจน ในระยะกลาง และระยะยาว ศอ.บต. สำนักงาน ป.ย.ป. ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จะมีการรายงานความคืบหน้าการดำเนินงานให้รองนายกรัฐมนตรี ทราบทุกๆ 3 เดือน และจะสรุปผลการดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรม โดยตั้งเป้าสามารถแก้ไขปัญหาความยากจนในพื้นที่เป้าหมายได้ ปีละ 30,000 ราย ในระยะ 1 ปี นอกจากนี้จะมีแนวทางส่งเสริมโอกาสของแรงงานไทย ในประเทศมาเลเซีย และส่งเสริมสินค้าทางการเกษตรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้เพื่อส่งออกไปยังประเทศมาเลเซียด้วย อย่างไรก็ตาม จะมีการเปิดปฏิบัติการแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้โดยนายสมศักดิ์เทพสุทินรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับรัฐมนตรีกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการ จัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อการแก้ไขปัญหาครัวเรือนยากจน ในแต่ละระยะพร้อมกำหนดเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะนำไปสู่การบูรณาการความร่วมมือ ต่อไป