ประวัติความเป็นมา สวท.ยะลา

สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา (สวท.ยะลา)

                  สถานีวิทยุกระจายเสียงแห่งประเทศไทย จังหวัดยะลา เป็นสถานีวิทยุกระจายเสียงในส่วนภูมิภาค สังกัด สำนักประชาสัมพันธ์เขต 6 กรมประชาสัมพันธ์  สำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อดำเนินการปฏิบัติการจิตวิทยาประชาสัมพันธ์  เสริมสร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้  เป็นสื่อของรัฐที่นำเสนอข้อมูลข่าวสาร นโยบายภาครัฐ, ส่วนราชการต่างๆ  เพื่อสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ปลูกฝังจิตสำนึก หล่อหลอมจิตใจ    ให้เกิดความรัก ความสามัคคี และส่งเสริมเอกลักษณ์          ค่านิยม จริยธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณีท้องถิ่น ภายใต้สังคมพหุวัฒนธรรม ที่เน้นนำเสนอข่าวสารในสิ่งที่ประชาชน ต้องรู้ ควรรู้ อยากรู้(หลัก 3 ร.)   และนำข่าวสารจากประชาชน ส่งต่อถึงภาครัฐ เพื่อให้เกิด การพัฒนาพื้นที่   ในลักษณะการสื่อสารแบบ จากบนลงล่าง(Downward Communication)  และจากล่างขึ้นบน(Upward Communication)

                  ปัจจุบันในยุคของการแข่งขันด้านข้อมูลข่าวสาร สวท.ยะลา    ได้ปรับรูปแบบการให้บริการข่าวสาร ทั้งแบบ ออนแอร์ ออนไลน์ และออนกราวด์ เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงช่องทางการสื่อได้มากขึ้น พร้อมทั้งได้เปิดโอกาสให้ประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม    ในการเสนอแนะข้อคิดเห็น ติชมรายการ ทั้งทางโทรศัพท์โดยการแจ้งข่าวในรายการ และช่องทางอื่นๆ อาทิ E-mail, Line, Facebook, website เพื่อเปิดโอกาสให้ภาครัฐ ภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และประชาชนมีส่วนร่วมในการดำเนินงาน  สวท.ยะลา   ได้ดำเนินการบริหารจัดการ การสร้างเครือข่ายภายใต้หลักคิด “ปรับทุกข์ ผูกมิตร ร่วมคิด ร่วมทำ” เพื่อผลสัมฤทธิ์ของงาน   โดยได้เปิดโอกาสให้ภาคส่วนอื่นๆ ในพื้นที่ เข้ามามีส่วนร่วม  โดยการทำงานร่วมกัน ร่วมกันตัดสินใจ เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการของประชาชน จัดกระบวนการรับฟังความคิดเห็น    จากประชาชนในลักษณะที่ทันท่วงที ถูกต้อง จริงใจ และโปร่งใส เพื่อสร้างความเชื่อถือ และไว้วางใจกับหน่วยงาน

เริ่มก่อตั้ง

                  สวท.ยะลา  ก่อตั้งขึ้นตั้งแต่  พ.ศ. 2510 ในสมัยรัฐบาลจอมพลถนอม  กิตติขจร   เป็นนายกรัฐมนตรี   ทั้งนี้ สืบเนื่องจากการปฏิบัติการของโจรก่อการร้ายกลุ่มต่างๆ  ที่มุ่งประสงค์จะแบ่งแยกดินแดนในจังหวัดชายแดนภาคใต้   โดยการหยิบยกเอาความแตกต่างด้านการนับถือศาสนา  ขนบธรรมเนียมประเพณี  และภาษาพูด  มาเป็นเงื่อนไขยุยงประชาชนในพื้นที่    และได้ใช้กำลังอาวุธคุกคามความสงบสุขของประชาชน  นอกจากนี้  จังหวัดชายแดนภาคใต้ยังมีอาณาเขตติดต่อกับประเทศมาเลเซีย  ขบวนการกลุ่มก่อการร้ายต่างๆ  จึงได้อาศัยรอยตะเข็บระหว่างประเทศเป็นที่ซุกซ่อนตัวเพื่อหนีการปราบปราม  ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ  ผนวกกับประชาชนในพื้นที่ส่วนใหญ่ยึดอาชีพเกษตรกร  มีเทคโนโลยีในการผลิตที่ต่ำ   ที่ดินไม่มีคุณภาพ  ทำให้ประสิทธิภาพในการผลิตตกต่ำ  และไม่มีบรรยากาศในการลงทุน  ทำให้ประชาชนไม่นิยมส่งบุตรหลานเข้าศึกษาในโรงเรียนตามระบบการศึกษาของประเทศ  ทำให้สภาพทางเศรษฐกิจ  การเมืองและสังคมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในขณะนั้นทรุดหนัก  ดังนั้น  รัฐบาลจึงได้จัดสรรงบประมาณให้กรมประชาสัมพันธ์จัดตั้ง  สวท.ยะลา  ขึ้น  ในระบบเอ.เอ็ม.  ความถี่ 981 กิโลเฮิรตซ์  และระบบ เอฟ.เอ็ม. 95  เมกกะเฮิรตซ์  ขึ้นมาเพื่อดำเนินการปฏิบัติการจิตวิทยาประชาสัมพันธ์  เสริมสร้างความมั่นคงและพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้

                  ในปี พ.ศ. 2526  โดยความเห็นชอบและสนับสนุนจากสภาความมั่นคงแห่งชาติกองทัพภาคที่ 4 ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้และจังหวัดยะลา กรมประชาสัมพันธ์  จึงได้จัดทำโครงการส่งกระจายเสียงระบบ เอฟ.เอ็ม.สเตอริโอมัลติเพล็กซ์  ที่ สวท.ยะลา ขึ้นอีกความถี่หนึ่ง  คือ ความถี่  92 เมกกะเฮิรตซ์  กำลังส่ง  10 กิโลวัตต์  ทั้งนี้  เพื่อตอบสนองนโยบายการปฏิบัติการจิตวิทยา  และการประชาสัมพันธ์ของรัฐให้กว้างขวางยิ่งขึ้น  และบรรลุเป้าหมายอย่างเป็นรูปธรรม  ทั้งนี้  เครื่องส่งฯ  ได้ติดตั้งบนเขาปกโย๊ะ  ซึ่งสูงจากระดับน้ำทะเล  1,096  เมตร  ทำให้รัศมีครอบคลุมพื้นที่ 5 จังหวัดชายแดนภาคใต้  และบางรัฐของประเทศมาเลเซีย

                  ตั้งแต่ปี 2547 ถึงปัจจุบัน มีสถานการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ประชาชนขาดความเชื่อมั่นในความปลอดภัยต่อชีวิต และทรัพย์สิน การดำเนินชีวิตเปลี่ยนแปลงทุกด้าน ทั้งเศรษฐกิจ และสังคม  สวท.ยะลา ในฐานะหน่วยงานสนับสนุนการดำเนินงาน เพื่อเสริมสร้างสันติสุข 
และความสมานฉันฑ์ ด้วยการนำเสนอข้อมูล สร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง  ปลูกฝังจิตสำนึก หล่อหลอมจิตใจ ให้เกิดความรัก ความสามัคคี  โดยร่วมมือกับทุกฝ่าย ทั้งภาครัฐ และเอกชน ประชาชน สนับสนุนให้ ในพื้นที่ จังหวัดเกิดความสันติสุข ในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้อย่างยั่งยืน

หน้าที่และความรับผิดชอบ

                 -เป็นสื่อของรัฐในการเผยแพร่นโยบาย ข่าวสาร ผลงาน การดำเนินงานของรัฐไปสู่ ประประชาชน เพื่อเสริมสร้าง ทัศนคติที่ดีแก่ประชาชน ต่อหน่วยงานราชการ และเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างประชาชนกับราชการในพื้นที่
                 -เป็นสื่อของรัฐในการให้ข่าวสาร ความรู้ที่ถูกต้อง และทันต่อเหตุการณ์ เพื่อให้ประชาชนทันต่อการเปลี่ยนแปลงของโลก และสังคมในยุคโลกาภิวัตน์
                 -เป็นสื่อของรัฐในการส่งเสริมเอกลักษณ์ ค่านิยม จริยธรรม ขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมของชาติ และท้องถิ่น    
                 -เป็นสื่อของรัฐ ในการเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี กับมิตรประเทศ 

สำหรับอาคารที่ทำการแยกเป็น 3 แห่ง คือ

    - อาคารสำนักงาน, ห้องส่งตั้งอยู่ที่  เลขที่ 16  ถนนสุขยางค์   อ.เมือง  จ. ยะลา
    - อาคารเครื่องส่ง  เอ.เอ็ม.ความถี่ 981 กิโลเฮิรตซ์  ตั้งอยู่ที่  ตำบลวังพญา  อ.รามัน จ.ยะลา  อยู่ห่างจากอาคารสำนักงาน  9  กิโลเมตร
    - อาคารเครื่องส่ง  เอฟ.เอ็ม.ความถี่  92 เมกกะเฮิรตซ์ ,94.25   เมกะเฮิรตซ์และ 95 เมกะเฮิรตซ์  ตั้งอยู่บนเขาปกโย๊ะ อ.บันนังสตา จ.ยะลา

 


Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar