อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ชี้แจงกรณีที่ปรากฏเป็นข่าว “ชาวบ้านร้องสื่อให้ภาครัฐแก้ปัญหากลิ่นปลาเน่าจากโรงงานใน จ.สงขลา มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 100 ครอบครัว”

นางจันทร์จิรา บางเสน อุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ในนามผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า จากกรณีที่ปรากฏเป็นข่าว “ชาวบ้านร้องสื่อให้ภาครัฐแก้ปัญหากลิ่นปลาเน่าจากโรงงานใน จ.สงขลา มีประชาชนได้รับผลกระทบกว่า 100 ครอบครัว” สาเหตุเกิดจากเหตุการณ์แอมโมเนียรั่วไหลจากห้องเย็นบริษัท นิสซุย (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 และเริ่มพบว่ามีกลิ่นเหม็นวัตถุดิบจากบริษัทดังกล่าวรบกวน เนื่องอาคารห้องเย็นชำรุดจนไม่สามารถเก็บรักษาวัตถุดิบได้ สร้างความเดือดร้อนต่อชาวบ้าน ต.ท่าข้าม อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา ที่อยู่อาศัยใกล้โรงงานดังกล่าว ทำให้ชาวบ้าน ประมาณ 100 คน ชุมชุมร้องเรียนให้แก้ปัญหากลิ่นปลาเน่าจากโรงงาน วันจันทร์ที่ 24 เมษายน 2566 เวลาประมาณ 08.00 น. และได้ยุติการชุมนุมโดยสงบ ปราศจากความรุนแรง เมื่อเวลาประมาณ 09.00 น. จากการตรวจสอบและติดตามการแก้ปัญหากลิ่นเน่าจากโรงงานแห่งนี้ พร้อมแนวทางการแก้ไขปัญหาและระยะเวลาดำเนินการจนแล้วเสร็จ จากเหตุการณ์เหตุแอมโมเนียรั่วไหลจากห้องเย็นบริษัท นิสซุย (ประเทศไทย) จำกัด เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 อสจ.สงขลา ได้มีการสั่งหยุดประกอบกิจการโรงงานบางส่วน ในส่วนอาคารห้องเย็น ซึ่งโครงสร้างอาคารชำรุด และเกิดแอมโมเนียรั่วไหล ให้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานรวม 4 ข้อ ดังนี้ 1.) ตรวจสอบและปรับปรุงอาคารห้องเย็น ให้มีความมั่นคงแข็งแรง โดยมีคํารับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาที่เกี่ยวข้องให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 2.) ปรับปรุงระบบท่อแอมโมเนีย รวมถึงอุปกรณ์ของระบบทำความเย็น ของอาคารห้องเย็น ให้มีความปลอดภัยต่อผู้ปฏิบัติงาน โดยมีคํารับรองของผู้ประกอบวิชาชีพวิศวกรรมควบคุมในสาขาที่เกี่ยวข้อง ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 พฤษภาคม 2566 3.) ให้ดำเนินการระบายไอแอมโมเนียที่คงค้างในห้องเย็น โดยไม่ก่อให้เกิดอันตรายต่อคน ทรัพย์สิน หรือสิ่งแวดล้อม ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 เมษายน 2566 และ 4.) ให้ขจัดแอมโมเนียในน้ำที่ใช้กำจัดแอมโมเนีย ก่อนระบายออกสู่แหล่งน้ำสาธารณะและน้ำทิ้งต้องมีความเป็นกรดและด่างเป็นไปตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่อง กำหนดมาตรฐานควบคุมการระบายน้ำทิ้งจากโรงงาน พ.ศ. 2560 ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 4 เมษายน 2566

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 4 เมษายน 2566 สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา ได้ตรวจสอบโรงงาน บริษัท นิสซุย (ประเทศไทย) จำกัด ปรากฏว่าได้ปรับปรุงแก้ไขโรงงานตามคำสั่งข้อ 3 และ 4 เรียบร้อยแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2566 ได้ตรวจสอบพบว่า โรงงานการนำวัตถุดิบที่ไม่เหมาะสมสำหรับแปรรูปได้ต่อไป (รหัส 02 02 03 ) ออกนอกบริเวณโรงงาน เพื่อนำไปผลิตปลาป่น โดยได้ยกเว้นไม่ต้องขออนุญาต ตามประกาศกระทรวงอุตสาหกรรม เรื่องนำสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุที่ไม่ใช้แล้วที่ไม่เป็นของเสียอันตรายออกนอกบริเวณโรงงาน พ.ศ. 2561 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าว อาจส่งผลกระทบเรื่องกลิ่นต่อผู้ปฏิบัติงานและประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน จึงขอให้โรงงานนำวัตถุดิบที่ไม่เหมาะสมสำหรับแปรรูปออกนอกบริเวณโรงงาน ด้วยความระมัดระวังโดยไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่อยู่ใกล้เคียงโรงงาน

และในวันที่ 24 เมษายน 2566 เวลา 11.00 น. สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา สำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษที่ 16 (สงขลา) และองค์การบริหารส่วนตำบลท่าข้าม ลงพื้นที่ตรวจสอบ พบข้อเท็จจริงดังนี้ (1) ไม่พบปัญหากลิ่นแอมโมเนีย (2) กลิ่นเหม็นเน่าจากวัตถุดิบ (ปลา) ที่ค้างอยู่ในโรงงานลดน้อยลงมากเนื่องจากโรงงานได้ทำการขนย้ายออกนอกพื้นที่หมดแล้วตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน 2566 (3) ประชาชนรอบพื้นที่และผู้ร้องเรียนได้เข้าหารือกับทางโรงงาน และทำการสำรวจความเสียหายและผลกระทบ และส่งข้อมูลให้กับทางโรงงานตั้งแต่วันที่ 18 เมษายน 2566 และอยู่ระหว่างดำเนินการเสนอผู้บริหารซึ่งเป็นชาวญี่ปุ่นตามขั้นตอนการเยียวยาแล้ว (4) คณะผู้ตรวจสอบได้เสนอให้มีการนัดหมายหารือกันในเรื่องการเยียวยา ระหว่างโรงงานกับประชาชนรอบพื้นที่โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมหารือด้วย และกำชับการทำความสะอาด คูระบาย อย่างสม่ำเสมอไม่ให้เกิดการหมักหมมเพื่อลดปัญหากลิ่นเหม็นด้วย

ทั้งนี้การเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอยู่ระหว่างการดำเนินการของบริษัท

ซึ่งคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายใน 15 วัน (รับเรื่องวันที่ 24 เมษายน 2566)

-มาตรการควบคุมโรงงานอุตสาหกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะที่ตั้งใกล้ชุมชน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในการปัองกันมลภาวะทางสิ่งแวดล้อมไม่ให้เกิดขึ้นซ้ำ

1. มาตรการตามกฎหมาย เมื่อสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด ตรวจสอบโรงงาน โดยที่พนักงานเจ้าหน้าที่ตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 ในกรณีที่พบว่าผู้ประกอบกิจการโรงงานผู้ใดฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หรือการประกอบกิจการโรงงานมีสภาพที่อาจก่อให้เกิดอันตราย ความเสียหายหรือความเดือดร้อนแก่บุคคลหรือทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน จะสั่งให้ผู้ผู้ประกอบการระงับการกระทำที่ฝ่าฝืนหรือแก้ไขหรือปรับปรุงหรือปฏิบัติให้ถูกต้องเหมาะสมภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามมาตรา 37 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535 หากในกรณีที่ผู้ประกอบกิจการโรงงานใดจงใจไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงานเจ้าหน้าที่ โดยไม่มีเหตุอันควรหรือในกรณีที่ปรากฏว่าการประกอบกิจการของโรงงานใดอาจจะก่อให้เกิดอันตราย ความเสี่ยหายหรือความเดือดร้อนอย่างร้ายแรงแก่บุคคลหรือ ทรัพย์สินที่อยู่ในโรงงานหรือที่อยู่ใกล้เคียงกับโรงงาน จะสั่งให้ผู้ประกอบกิจการโรงงานนั้นหยุดประกอบกิจการโรงงานทั้งหมดหรือบางส่วนเป็นการชั่วคราว และปรับปรุงแก้ไขโรงงานนั้นเสียใหม่หรือปฏิบัติให้ถูกต้องภายในระยะเวลาที่กำหนด ตามมาตรา 39 แห่งพระราชบัญญัติโรงงาน พ.ศ. 2535

2. มาตราการทางสังคม สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด มีการส่งเสริมและพัฒนาการประกอบกิจการภาคอุตสาหกรรมโดยเฉพาะโรงงานที่ตั้งใกล้ชุมชน ให้ประกอบกิจการตามหลักเกณฑ์ธรรมมาภิบาลสิ่งแวดล้อม 7 ประการ ได้แก่ 1) ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลข่าวสาร 2) ประชาชนมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหา 3) ความโปร่งใส 4) ความรับผิดชอบต่อสังคม 5) นิติธรรม 6) ความยุติธรรม 7) ความยั่งยืน

เพื่อให้เกิดความไว้วางใจจากภาคประชาชนในการประกอบกิจการของภาคอุตสาหกรรม และการพึ่งพาเกื้อกูลกันในสังคม (Social Symbiosis) ภาคอุตสาหกรรมจึงนำไปประยุกต์ใช้ในองค์กร และมีกิจกรรมที่แสดงความรับผิดชอบต่อสังคม โดยมีสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดในพื้นที่เป็นผู้ประสาน และสนับสนุนให้เกิดความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการ และชุมชมโดยรอบสถานประกอบการ

ซึ่งทั้ง 2 มาตราการจะดำเนินการควบคู่กันเพื่อให้โรงงานสามารถอยู่ร่วมกันในสังคม ชุมชน ได้อย่างราบรื่น และยั่งยืนตลอดไป

- ช่องทางการร้องทุกข์สำหรับประชาชนกรณีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบกับประชาชน

ที่มา : สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดสงขลา


image รูปภาพ
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar