"กาแฟ" จชต. ทางเลือกของพืชเศรษฐกิจ สร้างอัตลักษณ์ให้กับพื้นที่

กาแฟถือเป็นพืชเศรษฐกิจชนิดหนึ่งที่ปัจจุบันเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ นิยมปลูกกันมากขึ้น อีกทั้งยังเป็นแนวพระราชดำริของสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่ได้ส่งเสริมอาชีพการปลูกกาแฟให้กับเกษตรกร ในพื้นที่เป็นอาชีพเสริม เพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้อีกทางหนึ่ง สำหรับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ปัจจุบันมีพื้นที่เพาะปลูกกาแฟกว่า 2,160 ไร่ นิยมปลูกในสวนที่ผสมผสานกับพืชชนิดอื่น ตามพื้นที่ว่าง ส่วนใหญ่อยู่ในพื้นที่อำเภอเบตง อำเภอธารโต จังหวัดยะลา

ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) ร่วมกับสภาเกษตรกรแห่งชาติ และฝ่ายธุรกิจคาเฟ่อเมซอนบริษัท ปตท.น้ำมัน และการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บูรณาการขับเคลื่อนการพัฒนาการปลูกและการผลิตกาแฟโรบัสต้า ให้ครอบคลุมอย่างครบวงจร สามารถสร้างอัตลักษณ์กาแฟโรบัสต้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ให้มีตลาดรองรับที่แน่นอนและมั่นคง ภายใต้ระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ตามแนวทางพระราชดำริ ฯ

สำหรับในการดำเนินการนั้น ศอ.บต. ได้จัดเก็บข้อมูลของเกษตรกรที่สนใจและมีพื้นที่ ปลูกกาแฟที่เหมาะสม จำนวน 3 อำเภอ ได้แก่ พื้นที่อำเภอเบตง และอำเภอธารโต จังหวัดยะลา อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส รวมถึงจัดอบรมให้ความรู้แก่เกษตรกร ผ่านหลักสูตร “จัดการกาแฟ โรบัสต้า” โดยวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจาก Amazon เกษตรกรต้นแบบในพื้นที่ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกร เพื่อให้ครอบคลุมตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ อีกทั้งยังได้คัดเลือกสายพันธุ์กาแฟโรบัสต้า พันธุ์พื้นเมืองที่เหมาะสมกับพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สำรวจผลผลิตที่มี ผลดก ก้านยาว ข้อถี่ เมล็ดใหญ่ เปลือกบาง แต่ละข้อมีผลสุกพร้อมกัน และดำเนินการนำร่อง 1 พื้นที่กาแฟ 1 จุดเรียนรู้ เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่น

นายชัชนนท์ เต็มนา นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ ศูนย์วิจัยและพัฒนาการเกษตรยะลา เปิดเผยว่า การปลูกกาแฟในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ สายพันธ์ที่เหมาะสมกับพื้นที่มากที่สุด คือสายพันธ์ชุมพร 2 เนื่องจากสามารถปลูกร่วมกับสายพันธ์พื้นเมืองได้ เพราะจะทำให้ มีการเจริญเติบโตที่ดีกว่าพันธุ์อื่นๆ รวมถึงเป็นสายพันธ์ที่ต้านทานต่อโรค สามารถปรับตัว ให้เข้ากับสภาพภูมิอากาศของพื้นที่ได้ อีกทั้งยังปลูกในพื้นที่ราบ หรือพื้นที่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 700 เมตร แต่เกษตรกรจะต้องเพิ่มขั้นตอนในการดูแลรักษามากกว่าพืชชนิดอื่น นอกจากนี้ทางกรมวิชาการเกษตรพืชสวนธารโต จังหวัดยะลา ยังได้ส่งตัวอย่างของกาแฟโรบัสต้า ไปทดลอง พบว่า กาแฟโรบัสต้าในพื้นที่มีรสชาติของบราวชูก้า ซึ่งจะมีความหอมหวานในตัว เป็นจุดเด่น ทำให้กาแฟมีความแตกต่าง และมีรสชาติเป็นอัตลักษณ์เฉพาะตัวของพื้นที่อีกด้วย

ด้านนางซารีฮะ สามาวี หนึ่งในเกษตรกรที่ปลูกกาแฟ ในพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ได้กล่าวถึงจุดเริ่มต้นของการปลูกกาแฟในครั้งนี้ว่า ที่ผ่านมาตนได้ปลูกผลไม้ชนิดอื่น แต่เนื่องจากมีผลผลิตไม่ดี ประกอบกับราคาผลไม้ตกต่ำ จึงลองหันมาปลูกกาแฟ ศึกษาวิธีการปลูก ขั้นตอนต่างๆ รวมถึงมีวิทยากรมาให้ความรู้ในเรื่องของดูแลต้นกาแฟ สอนวิธีการตัดแต่งกิ่งกาแฟ การขยายพันธุ์ เพื่อให้ได้กาแฟที่มีผลผลิตที่ดี มีคุณภาพ จากการเรียนรู้ พบว่าในปีแรกกาแฟมีผลผลิตเป็นที่น่าพอใจ จนต่อมาได้ขยายพื้นที่ปลูกผสมผสานกับผลไม้ชนิดอื่น ตลอดระยะเวลากว่า 3 ปี กาแฟมีผลผลิตออกเป็นจำนวนมาก ตนจึงนำไปแปรรูปสร้างเป็นผลิตภัณฑ์ออกมาจำหน่าย เป็นของตนเอง โดยใช้ชื่อว่า “สามาวี คอฟฟี่” จำหน่ายในกิโลกรัมละ 500 บาท นอกจากนี้ตนยังได้เตรียมขยายพื้นที่สวน เพื่อปลูกกาแฟอีก 2 แปลง ซึ่งเชื่อว่ากาแฟจะเป็นผลผลิตทางการเกษตรอีกชนิดหนึ่งที่สามารถสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ให้กับเกษตรกรในพื้นที่เป็นจำนวนมากได้ในอนาคต

อย่างไรก็ตามเป้าหมายหลักที่สำคัญของศอ.บต. เพื่อต้องการพัฒนาคุณภาพชีวิต ความเป็นอยู่ของประชาชนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยบูรณาการขับเคลื่อนร่วมกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมและผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกกาแฟ ซึ่งถือเป็นพืชอัตลักษณ์ชนิดใหม่ในพื้นที่ที่อนาคตจะสร้างงาน สร้างรายได้ ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตที่ดียิ่งขึ้น


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar