"พืชร่วมยาง รายได้ในสวนยาง"

การปลูกพืชร่วมยาง เป็นการปลูกพืชควบคู่กับการปลูกยางพาราเพื่อเสริมรายได้ โดยพืชที่ปลูกต้องสามารถเจริญเติบโตร่วมกับต้นยางพาราได้และไม่ทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลง พืชร่วมยางที่สำคัญและนิยมปลูกกัน อาทิ ระกำหวาน, สละ, หวาย, กระวาน, หน้าวัวและเปลวเทียน หรือไม้ป่าบางชนิด เช่น ตะเคียนทอง, ไม้กฤษณา การจะปลูก

พืชร่วมยางชนิดใด ต้องคำนึงหรือพิจารณาในหลักการ ดังต่อไปนี้

• ผลตอบแทนจากการปลูกพืชร่วมยางแต่ละชนิด

• ควรเป็นพืชร่วมยางที่เกษตรกรชาวสวนยางคุ้นเคยกับการดูแลบำรุงรักษามาก่อนบ้าง

• พืชร่วมยางที่ปลูกต้องไม่กระทบกระเทือนในการปฏิบัติงานในสวนยางพารา, ต้องไม่มีผลต่อการเจริญเติบโตของต้นยางพารา และต้องไม่ทำให้ผลผลิตน้ำยางลดลง

พืชเสริมรายได้ในสวนยาง

พืชเสริมรายได้ หมายถึง พืชที่นำมาปลูกในระหว่างแถวยางแล้วทำให้มีรายได้เพิ่มขึ้น จำแนกได้ 2 ประเภท คือ พืชแซมยางและพืชร่วมยาง

พืชแซมยาง หมายถึง พืชที่ปลูกในแถวยางในขณะที่ต้นยางอายุไม่เกิน 3 ปี สามารถปลูกจนถึงต้นยางอายุไม่เกิน 4 ปี พื้นที่ระหว่างแถวยางจะต้องมีปริมาณแสงแดดมากกว่า 50% ของปริมาณแสงแดดทั้งหมด พืชแซมยางที่ปลูกควรเป็นพืชที่ตลาดต้องการสูง ราคาดี เป็นพืชล้มลุก อายุสั้น ดูแลรักษาง่าย การปลูกแบ่งตามอายุ คือ

1. อายุน้อยกว่า 1 ปี เช่น ข้าวไร่ ข้าวโพด พืชตระกูลถั่ว ผักชนิดต่าง ๆ พริก มะเขือ ถั่วฝักยาว แตงกวา แตงโม เป็นต้น

2. อายุมากกว่า 1 ปี เช่น กล้วย มะละกอ สับปะรด หวายตัดหน่อ เป็นต้น

การปลูกและดูแลรักษาพืชแซมยาง

1. พื้นที่สวนยางที่ปลูกพืชแซมยางดินควรมีความอุดมสมบูรณ์พอสมควร เมื่อมีการปลูกพืชแซม ควรใส่ปุ๋ยให้กับพืชแซมยางด้วย

2. การปลูกพืชแซมยาง ควรปลูกในสวนยางที่ระยะระหว่างแถวยางกว้าง 7 หรือ 8 เมตร เป็นสวนยางที่ปลูกยางแนวทิศตะวันออก-ทิศตะวันตก เพื่อให้พืชแซมยางได้รับแสงแดดเต็มที่ ถ้าแถวยางแคบกว่านี้จะปลูกพืชแซมได้ไม่เกิน 2 ปี

3. ระยะปลูกพืชแซมต้องปลูกห่างจากแถวยางไม่น้อยกว่า 1 เมตร บวกด้วยครึ่งหนึ่งของระยะห่างระหว่างแถวของพืชแซมนั้น ๆ เพื่อหลีกเลี่ยงร่มเงาและการแย่งปุ๋ยจากยาง

4. การดูแลรักษา ควรกำจัดวัชพืชระหว่างแถวยางและแถวพืชแซม การใส่ปุ๋ยควรเป็นปุ๋ยคอก,ปุ๋ยหมัก

5. แรงงานควรใช้แรงงานภายในครอบครัว เพื่อลดต้นทุนการผลิต

ประโยชน์ของพืชแซมยาง

1. ใช้บริโภคและเพิ่มรายได้จากการขายผลผลิต

2. ต้นยางเจริญเติบโตได้ดีกว่าปล่อยพื้นที่ให้ว่าง

3. ประหยัดค่าใช้จ่ายการควบคุมวัชพืช

4. ใช้พื้นที่ให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

พืชร่วมยาง หมายถึง พืชที่สามารถปลูกร่วมกับยางได้นานและให้ผลผลิตควบคู่กันไปพืชร่วมยางที่ปลูกควรเป็นพืชยืนต้นหรือล้มลุกที่มีอายุยาว พืชดังกล่าวบางชนิดต้องการแสงแดดในช่วงปีที่ 1-2 บางชนิดอาจต้องการร่มเงาของสวนบาง ดังนั้น พืชที่จะปลูกต้องทนทานต่อโรคที่เกิดกับยางพารา เช่น โรครากขาว โรคเส้นดำ โรคเปลือกดำ และโรคใบจุดก้างปลา เป็นต้น

ชนิดของพืชร่วมยางสามารถแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ ๆ ได้ดังนี้

1. ไม้ป่าเศรษฐกิจ เช่น เทียม

2. ไม้ผล เช่น มังคุด ลองกอง ขนุน จำปาดะ ระกำ

3. ไม้ยืนต้น เช่น สะตอ เนียง เหมียง หวาย

4. พืชสมุนไพรและเครื่องเทศ เช่น กระวาน ขิง

5. ไม้ดอกไม้ประดับ เช่น ดาหลา หน้าวัว จั๋ง หมากแดง

การปลูกและการดูแลรักษาพืชร่วมยาง

1. สภาพพื้นที่ปลูกสวนยางที่ปลูกพืชร่วมยาง ดินควรมีความอุดมสมบูรณ์ หน้าดินลึก

2. อายุของสวนยาง ไม้ยืนต้นสามารถปลูกพร้อมกับการปลูกยางในระยะแรกควรปลูกกล้วย

3. ระยะปลูกของพืชร่วมยางส่วนใหญ่ปลูกเป็นแถวเดี่ยว อยู่กึ่งกลางระหว่างแถว ยางบางชนิดอาจปลูกแถวคู่ แต่ต้องปลูกห่างจากแถวยางไม่น้อยกว่าข้างละ 2 เมตร

4. การดูแลรักษาพืชร่วมยาง หลังปลูกควรใส่ปุ๋ยตามอัตราคำแนะนำ ตลอดจนการกำจัดวัชพืช การให้น้ำ

5. แรงงาน ควรใช้แรงงานในครอบครัวเพื่อลดต้นทุนการผลิต

ประโยชน์ของพืชร่วมยาง

1. เพิ่มรายได้เนื่องจากผลตอบแทนจากยางอย่างเดียวไม่เพียงพอ

2. ต้องการผลผลิตไว้บริโภคในครัวเรือน

3. ลดความเสี่ยงด้านการตลาดในช่วงราคายางตกต่ำ

4. ใช้พื้นที่ว่างระหว่างแถวยางให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด

5. ทำให้มีรายได้ในช่วงวันฝนตก ซึ่งไม่สามารถกรีดยางได้

6. ช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม

พืชร่วมยางที่นำมาปลูกนั้นมีหลายชนิดและอยู่ในระหว่างการศึกษา ทดสอบ ได้แก่ ลองกอง มังคุด หวายข้อดำ สำหรับพืชร่วมยางที่ส่งเสริมให้ปลูก คือ เหมียง ซึ่งเป็นพืชผักสำหรับบริโภคใบอ่อน

--------------------------------------------------------------------------------

ข้อมูลจาก http://www.monmai.com/


image รูปภาพ
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar