"ชันโรง"

การเลี้ยงชันโรงเป็นอีกช่องทางของการเพิ่มผลผลิตพืชแบบปลอดสารพิษ แม้มีรายละเอียดไม่มากเท่าการเลี้ยงผึ้งพันธุ์ แต่นักเลี้ยงต้องมีการจัดการที่ดี เพื่อให้ได้น้ำผึ้งชันโรงและพรอโพลิสสมดังตั้งใจ ใครชำนาญหน่อยก็ต่อยอดเลี้ยงเพื่อขายรังหรือให้เช่ารัง ซึ่งเป็นอีกอาชีพที่ดี

ชันโรงแต่ละชนิดมีวิธีจัดการรังคล้ายกัน ก่อนอื่นต้องดูว่าควรเลือกชันโรงชนิดใดมาเลี้ยง แนะนำให้เลือกชนิดที่ปรับตัวและทนต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงได้ดี อยู่ร่วมกับมนุษย์ได้ ไม่ดุร้าย มีความกระตือรือร้น นอกจากนี้นางพญาต้องไข่ได้ปริมาณมาก มีขนาดรังไม่ใหญ่เกินไป ขยายพันธุ์ง่าย โดยสถานที่ตั้งรังต้องมีพืชอาหารสมดุลกับปริมาณชันโรง ปลอดภัยจากลม สารเคมี และศัตรู

การจัดการรังชันโรง

วางกล่องเลี้ยงบนขาตั้งที่ทาน้ำมันเพื่อป้องกันมด มีวัสดุปิดฝากล่องเพื่อป้องกันน้ำเข้ารังในช่วงฤดูฝน

วางกล่องเลี้ยงกระจายในสวนเพื่อประสิทธิภาพในการผสมเกสรและหาอาหาร อัตราส่วน 4 รังต่อไร่

เปิดรังตรวจสภาพภายในอย่างน้อยเดือนละครั้ง เพื่อดูการเจริญเติบโตของไข่และถ้วยอาหาร รวมถึงศัตรูต่าง ๆ หากอาหารไม่เพียงพอควรย้ายที่ ถ้าภายในรังชันโรงเจริญเติบโตจนเกือบแน่นกล่องเลี้ยง ค่อยแยกขยายพันธุ์ต่อไป

เทคนิคแยกขยายรังชันโรง

มักทำในช่วงที่มีอาหารสมบูรณ์ เพื่อชันโรงจะได้ใช้ในการเจริญเติบโต ทำได้ดังนี้

1 ตรวจดูปริมาณไข่ ดักแด้ ตัวเต็มวัย ว่าสมดุลและมีจำนวนพอสมควรจึงแยกรัง

2 ใช้มีดตัดกลุ่มไข่ ดักแด้ โดยให้มีตัวเต็มวัยประมาณครึ่งหนึ่งของของเดิม และนำหลอดนางพญาติดไปด้วย

3 ย้ายถ้วยเกสรและถ้วยน้ำผึ้งมาวางใกล้ปากทางเข้าออกรัง ในกล่องที่เตรียมไว้

4 นำชันมาแปะบริเวณทางเข้ารังเพื่อล่อตัวเต็มวัย ให้กลับเข้ารังที่ย้ายใหม่

หลังจากแยกขยายรังแล้ว ให้ปิดทางเข้าของรังเดิมด้วยชันหรือกระดาษแล้วย้ายออกไปไกลกว่าจุดเดิม 20-30 เมตร โดยนำรังที่แยกขยายใหม่มาตั้งแทนจุดเดิม เพื่อให้ชันโรงงานกลับเข้ารัง รอจนพลบค่ำจึงย้ายรังเดิมกลับมาที่เดิมพร้อมเปิดปากทางเข้ารัง แล้วนำรังใหม่ไปไว้ในที่ที่ต้องการ โดยห่างจากจุดเดิมไม่น้อยกว่า 50 เมตร และคอยระวังมดเข้าไปกินน้ำหวานและทำลายหลอดดักแด้ ซึ่งจะทำให้รังที่เพิ่งแยกขยายเสียหาย เพื่อให้การเลี้ยงประสบผลสำเร็จ นักเลี้ยงต้องจัดการรังให้แข็งแรง โดยหมั่นสังเกต ตรวจสภาพรังอย่างสม่ำเสมอ

สามารถขยายรังพร้อมเก็บน้ำผึ้งชันโรงได้ เมื่อภายในกล่องเลี้ยงมีการเจริญเติบโตจนเกือบแน่นกล่อง

ขณะปฏิบัติงานต้องแต่งกายรัดกุมและใส่หมวกตาข่ายกันชันโรงกัด

ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการแยกขยายรังคือช่วงมีแดดไม่เกิน 4 โมงเย็น เพื่อเผื่อเวลาให้ชันโรงออกไปหาน้ำหวานซ่อมแซมรังที่เสียหาย

อุปกรณ์ที่ใช้และขั้นตอนการเก็บน้ำผึ้งต้องสะอาด ใช้มือสัมผัสโดยตรงน้อยที่สุด เพื่อให้ได้น้ำผึ้งชันโรงที่สะอาด มีสิ่งเจือปนตามธรรมชาติ เช่น เกสร ชัน และอื่น ๆ น้อยที่สุด มีความข้นและหนืดสูง และเก็บในอุณหภูมิห้องได้นานกว่า 6 เดือนโดยไม่ระเบิด ไม่เกิดส่าเหล้า

สำหรับการเก็บน้ำผึ้งชันโรงสามารถทำพร้อมกับการแยกขยายรังได้ โดยรวบรวมถ้วยน้ำหวานใส่ในภาชนะที่มีถุงพลาสติกรองรับอีกชั้นเพื่อความสะอาดและสะดวกในการเก็บ จากนั้นตัดมุมถุงที่เก็บถ้วยน้ำหวานชันโรงไว้ เทเฉพาะน้ำผึ้งผ่านกระชอนที่ซ้อนกัน 2 ชั้น โดยมีผ้าขาวบางวางแทรกไว้ตรงกลาง เพื่อให้น้ำผึ้งสะอาดปราศจากเศษชันหรือตัวชันโรงที่ตายแล้ว ก่อนนำน้ำผึ้งที่กรองแล้วไปตากแดดเพื่อลดความชื้นให้มีความเหนียวหนืดประมาณ 6-7 วัน ตักสารแขวนลอยบนผิวหน้าทุกวัน แล้วกรองด้วยผ้าอีกครั้ง บรรจุใส่ขวดที่ผ่านการนึ่งหรือฆ่าเชื้อเรียบร้อยแล้วเพื่อเก็บไว้รับประทานหรือจำหน่ายต่อไป

ข้อมูลจาก : https://www.baanlaesuan.com / https://www.sarakadee.com/


image รูปภาพ
image
image
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar