คืบหน้ากระบวนการสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายเทคนิคหารือที่มาเลเซียวันนี้ เตรียมเดินหน้าสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้

พล.ต.วรเดช เดชรักษา หัวหน้าคณะเทคนิค คณะพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฝ่ายไทย ประชุมหารือร่วมกันหัวหน้าฝ่ายเทคนิคของ BRN วันนี้ที่มาเลเซีย ก่อนเดินหน้าสร้างสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตามแผนความเข้าใจร่วมสร้างสันติสุขจชต. (JOINT COMPREHENSIVE PLAN TOWARDS PEACE -JCPP) ที่ทั้งสองฝ่ายรับหลักการร่วมกันในการประชุมพูดคุยสันติสุขครั้งที่ 6 ที่ กรุงกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย เมื่อวันที่ 21-22 ก.พ.2566 ที่ผ่านมา

ขณะที่ พลโท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ซึ่งรับผิดชอบงานด้านความมั่นคงในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้กล่าวถึงการหารือของฝ่ายเทคนิคในวันนี้ว่า เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการสร้างสันติสุขในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ก่อนที่ทั้ง 2 ฝ่าย จะร่วม ขับเคลื่อนตามกรอบ JCPP โดยลดสถานการณ์ความรุนแรงใน จชต. ระหว่างเดือน ก.ค.66 - ก.ย.67 ซึ่งเป็นห้วงเวลาที่ทั้งสองฝ่ายจะปฎิบัติตามแนวทางปฎิบัติร่วมกันในการลดเหตุความรุนแรง ทั้งนี้คาดหวังว่าในช่วง 3-4 เดือนจากนี้ คือ ระหว่างเดือน มี.ค.66ถึงมิ.ย.66 หัวหน้าคณะเทคนิคทั้งสองฝ่ายจะสามารถได้ข้อสรุปร่วมกันในรายละเอียดของแนวทางที่ทั้ง 2 ฝ่ายต้องยึดเป็นแนวปฎิบัติร่วมกัน ก่อนเดินหน้าขับเคลื่อนสันติสุขตามแผน JCPP

ทั้งนี้ การหารือของฝ่ายเทคนิค จะมีการหยิบยกข้อเสนอของแต่ละฝ่ายขึ้นหารือ เพื่อให้อีกฝ่ายปฎิบัติที่จะนำไปสู่การลดเหตุรุนแรงในพื้นที่

คาดว่าในการหารือ BRN จะเสนอให้ปรับลดกำลังทหารในพื้นที่ ยกเลิกการตั้งด่านความมั่นคง ลดการใช้กฎหมายพิเศษและการบังคับใช้กฎหมายในการปิดล้อมตรวจค้น ขณะที่หัวหน้าเทคนิคฝ่ายไทยจะมีข้อเรียกร้องให้กำลังติดอาวุธในพื้นที่ยุติการเคลื่อนไหวในการก่อเหตุร้ายทั้งหมดในช่วงการขับเคลื่อน JCPP

พลโท ศานติ ยังกล่าวถึงการพูดคุยของฝ่ายเทคนิคเพื่อบรรลุเป้าหมายที่กองทัพภาคที่ 4 วางไว้ ว่า การสร้างสันติสุขถาวร ต้องไม่มีเหตุความรุนแรง เหตุการณ์ความไม่สงบเกิดขึ้น ซึ่งเป็นไปตามสารัตถะสำคัญในข้อแรก นั้นคือการลดเหตุความรุนแรง ที่ทั้ง 2 ฝ่ายเห็นสอดคล้องกัน ถือเป็นหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนตามกรอบ JCPP

อย่างไรก็ตาม แม่ทัพภาคที่ 4 กล่าวว่ายังไม่ทราบข้อเสนอของ BRN ว่ามีอะไรบ้าง ซึ่งต้องมีการหารือในรายละเอียดว่า อะไรที่สามารถทำได้หรือยังทำไม่ได้ จะมีข้อแลกเปลี่ยนอย่างไรเพื่อให้สามารถเดินหน้าสร้างสันติสุขไม่เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบตามกรอบ JCPP

ในการหารือของฝ่ายเทคนิค คาดว่าจะได้ข้อยุติร่วมกันในเรื่องการจัดตั้งคณะทำงานร่วมเพื่อร่วมกันตรวจสอบ หากเกิดเหตุความไม่สงบเกิดขึ้นในพื้นที่เกิดจากการกระทำของฝ่ายใด

การพูดคุยเพื่อแก้ปัญหาความไม่สงบ จชต.เริ่มมาตั้งแต่ ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน โดยในช่วงหนึ่งปีที่ผ่านมา ได้บรรลุ 3 สารัตถะสำคัญ ลดความรุนแรง การมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคมในการสร้างสันติสุข และการแสวงหาทางออกทางการเมืองร่วมกัน และในการประชุมครั้งที่ 6 สามารถบรรลุข้อตกลง JCPP ร่วมกัน ถือเป็นจุดเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ เตรียมเดินหน้าลดความรุนแรงอย่างเป็นรูปธรรมครั้งแรกร่วมกัน โดยมีระยะเวลาลดความรุนแรง 15 เดือน

อีกทั้ง ระหว่างการลงพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ขอ งพล.อ.ซุลกิฟลี ไซนัล อาบิดีน ผู้อำนวยความสะดวกมาลเซีย เมื่อช่วงต้นเดือน มี.ค.ที่ผ่านมา ซึ่งได้ให้สัมภาษณ์สื่อมวลชน

คาดหวังว่าใกล้เห็นแสงสว่างสันติสุขที่ปลายอุโมงค์จากการพูดคุยสันติสุข เห็นถึงความจริงใจของทั้งสองฝ่ายที่จะหาทางออกจากความขัดแย้งด้วยมาตรการทางการเมือง ที่จะะนำการพัฒนาเศรษฐกิจ ความสงบความเจริญรุ่งเรืองกลับคืนสู่ จชต. พล.อ.วัลลภ รักเสนาะ หัวหน้าคณะพูดคุยเพื่อสันติสุข และพล.ท.ศานติ ศกุนตนาค แม่ทัพภาคที่ 4 ที่ได้พบหารือผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซียขณะลงพื้นที่ จชต.ได้แสดงความคาดหวังในลักษณะเดียวกัน

แสงสว่างสันติภาพที่ปลายอุโมงค์ ที่ ผู้อำนวยความสะดวกมาเลเซีย ได้กล่าวไว้ คงไม่ใช่คำกล่าวที่เลื่อนลอย แต่เราคงได้เห็นความเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นในพื้นที่ จชต. ที่จะเป็นการเปลี่ยนผ่านสำคัญไปสู่สันติสุขถาวรในพื้นที่////


image รูปภาพ
image
image
image

Line

คะแนนโหวต :
StarStarStarStarStar